Best Practice 2557

โครงการประกวดแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practices)
การบูรณาการการจัดการความรู้สู่ชุมชนและประชาคมอาเซียน ระดับอุดมศึกษา

km16

ชื่อเรื่อง/แนวปฏิบัติที่ดี     การสอบเพื่อรับรองมาตรฐานวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศตามหลักสากล
ชื่อ-นามสกุลผู้นำเสนอ     นายนพณรรจ์ เนตรสกูลณี
ชื่อสถาบันอุดมศึกษา       มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
หน่วยงาน                      สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
เบอร์โทรศัพท์                 0 282 9009-15 ต่อ 6765
เบอร์โทรสาร                  0 280 7919
E-mail address             nopphanan.n@rmutp.ac.th

บทสรุปผู้บริหาร

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (สวท.) มีวัตถุประสงค์ให้บุคลากรของสำนักวิทยบริการฯ ได้พัฒนาความรู้ความสามารถในการทำงานด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเป็นการรับรองความสามารถของบุคลากรตามมาตรฐานสากล เพื่อสนองตอบความต้องการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มั่นคงปลอดภัยให้กับนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย เป็นการเตรียมพร้อมของมหาวิทยาลัยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงเริ่มดำเนินโครงการให้นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการสอบใบรับรองวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Certificate) ในปี พ.ศ.2553 มีผู้เข้าสอบ 10 คน สอบผ่าน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ในปี 2556 มีการปรับปรุงหลักสูตรตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง บุคลากรของสำนักฯเข้าสอบ 9 คน สอบผ่าน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 88.8 ผลที่ได้รับคือทำให้นักวิชาการมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และสามารถนำความรู้มาใช้ในการปฏิบัติงานรวมทั้งเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในการสอบเพื่อรับรองมาตรฐานสากลต่อไป

ประวัติหน่วยงาน

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เริ่มดำเนินการจัดตั้งเป็นโครงการจัดตั้งสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2548 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์นิวัตร จารุวาระกูล เป็นประธานโครงการจัดตั้งสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  มีสำนักงานชั่วคราว ตั้งอยู่ที่อาคาร 1 ชั้น 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  เทเวศร์  ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ได้มีกฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ให้เป็นสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดหา พัฒนา ดูแล รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้กับหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มีศูนย์วิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์โชติเวช ศูนย์พณิชยการพระนคร ศูนย์เทเวศร์ และศูนย์พระนครเหนือ การดำเนินงานของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มีภารกิจดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1: (e-Learning) การสร้างโอกาส เพิ่มขีดความสามารถและยกระดับมาตรฐานการเรียนรู้ด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ยุทธศาสตร์ที่ 2: (e-Management) การเป็นผู้นำในการใช้ ICT เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการให้บริการทางการศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ 3: (e-Manpower) การผลิตและพัฒนาคุณภาพผู้จบการศึกษาให้มีสมรรถนะทาง ICT เพื่อพัฒนาประเทศ

การดำเนินงานในอดีต

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (สวท.) กำหนดให้นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการทุกคนสอบเพื่อรับรองมาตรฐานวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศตามหลักสากลที่ผ่านมา ผู้สอบต้องศึกษาและทำความเข้าใจวิธีการขั้นตอนการสอบด้วยตนเอง โดยข้อมูลโดยการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ กระจายอยู่หลายที่ หลากหลายแนวทาง หลายความคิดเห็น  กอปรกับการสอบมีค่าใช้จ่ายสูง เฉลี่ยคนละ 6,642 บาท จึงสร้างความสับสนและความลังเลให้กับผู้เข้าสอบ

แนวทางการดำเนินงานตามหลัก (PDCA)

การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวสามารถแยกออกเป็นขั้นตอนตามหลัก PDCA ได้ดังนี้

ระยะที่ 1 การวางแผน (Plan)

1. ศึกษาความต้องการของผู้สอบโดยคำนึงถึง
1.1 ความต้องการของบุคลากร จากการสำรวจความคิดเห็นของนักวิชาการคอมพิวเตอร์ของ สวท.พบว่า มีความสนใจในการสอบ เพราะจะได้ทดสอบความรู้ความสามารถของตนเอง และเป็นการพัฒนาตนเองตามมาตรฐานสากล
1.2 ความสอดคล้องต่อภาระงาน เนื่องจาก สวท. มีนักวิชาการคอมพิวเตอร์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในฝ่ายต่างๆตามภาระงาน ทำให้มีความรู้ความสามารถในแต่ละงานแตกต่างกันไป สวท. จึงได้กำหนด

2. ศึกษาความต้องการของหน่วยงาน

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มุ่งหวังให้บุคลากรของสำนักพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อยกระดับความสามารถในการทำงานด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงมีนโยบายให้นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการทุกคนต้องเข้ารับการทดสอบความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับภาระงาน เพื่อเป็นการรับรองความสารถของบุคลากร และยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานให้ได้มาตรฐานสากลตอบสนองความต้องการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มั่นคงและปลอดภัยให้กับนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย เป็นการเตรียมพร้อมของมหาวิทยาลัยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

3 การเลือกวิชาที่สอบ ต้องศึกษาข้อมูลล่วงหน้า ว่ามีการสอบวิชาใดบ้าง และขอบเขตเนื้อหาของข้อสอบ มีเรื่องใดบ้าง โดยสามารถดูได้ที่ http://www.microsoft.com/learning/en-us/mcsa-windows-server-certification.aspx (Microsoft Certified Systems Administrator (MCSA)

4 ศึกษาหลักเกณฑ์วิชาสอบ ให้ดูว่าวิชานั้นกำหนดให้ต้องผ่านการสอบวิชาอื่นมาก่อนหรือไม่ โดยดูที่ required exam จากตัวอย่างในภาพจะเห็นว่าผู้สอบสามารถเลือกสอบจากวิชาใดก่อนก็ได้ แต่แนะนำให้สอบเรียงตามลำดับวิชา เพราะจะเริ่มจากวิชาง่ายไปยาก

km1

5 ศึกษารายละเอียดวิชาสอบ ผู้สอบสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดหัวข้อที่จะทำการทดสอบทักษะความรู้ ในภาพเป็นรายละเอียดของวิชา Installing and Configuring Windows Server 2012 รหัส 410 และราคาสอบ

km2

km3

km4

6 ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ต่างๆ เช่น เว็บไซต์กลุ่ม ผู้ดูและระบบแห่งประเทศไทย http://www.thaiadmin.org/board/index.php ที่มีการให้คำแนะนำ ประสบการณ์และตอบปัญหาเกี่ยวกับการสอบจากผู้ที่เคยเข้ารับการทดสอบมาก่อน

ระยะที่ 2 การลงมือปฏิบัติ (Do)

1. การซื้อใบสมัครและสมัครสอบ

ผู้สมัครต้องทำการสมัครและชำระเงินค่าสอบผ่านเว็บไซต์ โดยสิ่งที่ผู้สมัครต้องมีคือ อีเมล์ของไมโครซอฟท์ เช่น Hotmail และบัตรเครดิตเพื่อใช้ในการชำระเงิน

ชั้นตอนการซื้อใบสมัคร

1.1 ไปที่ http://bsf01.com/microsoft_vouchers/mcsa_winserver_sqlserver.aspx (สำหรับ MCSA : Windows Server 2012 Certification) เพื่อซื้อ Voucher หรือใบสมัครสอบ และตรวจสอบวิชาที่จะสอบ แล้วให้คลิก Buy Now

km5

* ข้อดีของการซื้อ Voucher รวมทุกวิชา คือจะได้ส่วนลดจากราคาปกติ ประหยัดกว่าซื้อแยกทีละวิชา

* ในช่วงเวลาหนึ่ง ไมโครซอฟท์จะให้ข้อเสนอพิเศษ เช่น Second Shot ทำให้สามารถลงสอบครั้งที่สองได้ สำหรับในกรณีที่สอบไม่ผ่านในครั้งแรก ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสอบผ่าน และประหยัดเงินค่าสอบของผู้สมัคร

1.2 เลือกรายวิชาที่สอบ ใส่ ชื่อ-นามสกุล อีเมล์ (Hotmail) ที่อยู่ ข้อมูลบัตรเครดิต เป็นภาษาอังกฤษ แล้วคลิก Purchase

* สถานที่สอบ (Country Where Test Will Be Taken) ให้เลือกเป็น Thailand และสกุลเงิน (Currency) เลือก BAHT

* ควรตรวจสอบข้อมูลที่กรอก โดยเฉพาะชื่อ-นามสกุล อีเมล์ เพราะหากผิดจะแก้ไขได้ยาก เนื่องจากผู้สอบ   ไม่สามารถแก้ไขได้เอง ต้องส่งอีเมล์ไปให้ไมโครซอฟท์เป็นผู้แก้ไข

1.3 ล็อกอินเข้าอีเมล์ที่ใช้สมัคร ผู้สอบจะได้รับรายละเอียดการสั่งซื้อ (Prometric Voucher Confirmation‏) จาก Prometric ซึ่งเป็นศูนย์สอบของไมโครซอฟท์

2. การสมัครสอบ

2.1 ไปที่ www.register.prometric.com คลิก Login

km7

2.2 สำหรับผู้ที่เคยสอบแล้วให้ Login ได้เลย แต่ผู้ที่ยังไม่เคยสอบให้สร้าง Username ใหม่ก่อน โดยคลิกที่ Create a new password

km8

2.3 ใส่ข้อมูลส่วนตัว สำหรับ Prometric ID ผู้สอบครั้งแรกให้เว้นว่างไว้ แล้วคลิก Submit ด้านล่าง
2.4 ผู้สอบจะได้รับ e-mail รายละเอียดการสมัครจากทาง Prometric

3. การเลือกวันสอบและศูนย์สอบ

3.1 ไปที่เว็บไซต์ของ Prometric https://www.register.prometric.com/login.asp แล้วล็อกอินเข้าระบบ

3.2 คลิกที่ LOCATE A TEST CENTER เพื่อเลือกศูนย์สอบ

3.3 เลือกประเทศและวิชาที่สอบ

km9

km10

km11

* ผู้สอบสามารถลงสอบครั้งละวิชาได้ ไม่จำเป็นต้องลงทุกวิชาที่ซื้อจาก Voucher พร้อมกันทั้งหมด เพื่อให้ผู้สอบมีเวลาเตรียมตัวในการสอบแต่ละวิชาได้เต็มที่

3.4 เลือกวันและเวลาสอบ แนะนำว่าควรเผื่อเวลาในการเดินทางไปสอบ เพื่อให้มีเวลาในการเตรียมตัวก่อนเข้าสอบ

km12

3.5 ใส่ข้อมูลหน่วยงานที่ปฏิบัติงาน แล้ว Next

km13

3.6 ในหน้า Payment Information ให้คลิก Enter Promo Code/Voucher

km14

3.7 ในช่อง Discount Type เลือกเป็น Voucher Number และในช่อง Voucher Number/Promo Code  ให้เปิดเมล์ที่ได้รับจากการซื้อ Voucher และนำใส่ในช่องนี้ ใส่รหัส CAPTCHA แล้วคลิก Validate

km15

3.8 ผู้สอบจะได้รับอีเมล์จาก Prometric ซึ่งจะบอกชื่อวิชา วันเวลา สถานที่สอบ และการชำระเงิน

4. การเตรียมตัวสอบ

4.1 หาข้อมูลวิชาที่สอบ โดยเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ ว่าขอบเขตเนื้อหาของข้อสอบวัดทักษะความรู้ในเรื่องใดบ้าง
4.2 ศึกษาและฝึกปฏิบัติงานกับระบบงานจริง เพื่อทำความเข้าใจกับการทำงานของระบบ เพราะข้อสอบจะเป็นแบบประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีในการแก้โจทย์
4.3 รวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เข้าสอบ โดยเฉพาะผู้ที่เคยผ่านการเข้าสอบ เพื่อให้คำแนะนำและแนวทางในการวิเคราะห์โจทย์และทำข้อสอบ
4.4 จัดอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสอบโดยเชิญวิทยากรจากภายนอกที่มีความรู้ในเรื่องนั้นมาบรรยายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเติมเต็มเทคนิคในการใช้ระบบงานและการทำข้อสอบ
4.5 ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ เช่น เว็บไซต์กลุ่มผู้ดูและระบบแห่งประเทศไทย ที่มีผู้เข้ามาสอบถามและตอบคำถาม, แสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสอบประกาศนียบัตรอยู่เสมอ

5. แนวข้อสอบ

แนวข้อสอบ เราสามารถดูแนวข้อสอบได้จากเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ ที่จะอธิบายว่าข้อสอบวิชานั้นวัดทักษะในเรื่องใดบ้าง ตัวอย่างเช่น Exam 70-410 :  Installing and Configuring Windows Server 2012 http://www.microsoft.com/learning/en-us/exam-70-410.aspx

ข้อสอบจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

5.1 ข้อสอบแบบมีคำตอบเดียว ข้อสอบแบบนี้จะมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว เช่น

– ถ้ามีเซิร์ฟเวอร์ Windows Server 2012 และต้องการเพิ่ม Hard Disk ขนาด 4 TB คุณต้องใช้คำสั่งใด
– ต้องตั้งค่าอย่างให้สามารถพิมพ์งานได้แม้ในขณะที่ Print Server มีปัญหา
– หากต้องการสร้าง Group Policy Object ให้มีผลกับทุก user accounts ใน OU ยกเว้น Sales Group ต้องทำอย่างไร
– ต้องทำอย่างไรให้ client computers ใน Active Directory domain สามารถสร้าง record ใน primary zone ได้
– หากต้องการ uninstall domaim controller ที่มี Windows Server 2012 แบบ Server Core     ติดตั้งอยู่ ต้องทำอย่างไร
– ไฟล์ script แบบใด ที่ใช้ promote domain controller

 5.2 ข้อสอบที่ตอบได้มากกว่าหนึ่งคำตอบ ข้อสอบแบบนี้จะยากกว่ากว่าแบบแรก เพราะต้องเลือกคำตอบให้ถูกทั้งหมด ผิดข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่ได้คะแนน เช่น

– ถ้าคุณต้องการจะติดตั้ง GUI ให้กับ Server Core คุณต้องใช้คำสั่งใดบ้าง เลือกมาสองข้อ
– คุณต้องใช้ตั้งค่า packaged apps อย่างไร เพื่อป้องกันผู้ใช้งานติดตั้งโปรแกรมจาก Windows Store application
– ถ้าคุณต้องการทราบรายชื่อผู้ใช้งานที่สามารถอัพโหลดไฟล์ที่มีขนาดเกินกว่า 100 MB ต้องใช้คำสั่งใด

 5.3 ข้อสอบแบบเรียงลำดับ ข้อสอบแบบนี้จะยากที่สุด เพราะนอกจากจะต้องเลือกคำตอบที่ถูกต้อง และยังต้องเรียงลำดับคำตอบให้ถูกต้องด้วย เช่น

– หากคุณต้องการกำหนด IPV6 address prefix ให้ Network Adapter แต่ละตัว ต้องทำอย่างไร ให้เลือกคำตอบพร้อมเรียงลำดับให้ถูกต้อง
– ถ้าคุณต้องการตั้งค่า pass-through disk สำหรับเครื่องที่เป็น virtual machine คุณต้องทำอย่างไร
– ถ้าคุณต้องการย้าย backup GPO ของ domain controller ใน domaim controller อย่างไรจึงจะใช้เวลาน้อยที่สุด
– ถ้าคุณต้องการอธิบายให้ administrator ฟัง เรื่อง Always Offline Mode ควรใช้คำอธิบายตามข้อใด เลือกได้มากกว่าหนึ่งข้อ
– ถ้าคุณต้องการเปิดใช้ Single-root I/O virtualization ต้องทำอย่างไร

6. การสอบ

ผู้สอบต้องไปรายงานตัวที่ศูนย์ตามวันและเวลาที่ได้ลงทะเบียนไว้ จากนั้นแจ้งชื่อ-นามสกุล และรอเรียกเข้าห้องสอบ ข้อสอบมีทั้งหมด 50 ข้อ มีเวลาทำข้อสอบประมาณ 2 โมง โดยแต่ละหลักสูตรจะมีวิชาที่ต้องสอบดังนี้

6.1 หลักสูตร MCSA: Windows 8 สอบ 2 วิชา

– Configuring Windows
– Managing and Maintaining Windows 8

          6.2 หลักสูตร MCSA: Windows Server 2012 สอบ 3 วิชา

– Installing and Configuring Windows Server 201
– Administering Windows Server 2012
– Configuring Advanced Windows Server 2012 Services

6.3 หลักสูตร MCSE: Server Infrastructure ต้องผ่านการสอบ MCSA: Windows Server 2012 และสอบเพิ่ม 2 วิชา

– Designing and Implementing a Server Infrastructure
– Implementing an Advanced Server Infrastructure

 ระยะที่ 3 ตรวจสอบ (Check)

1. ตรวจสอบผลสอบ

ผู้สอบจะทราบผลการทดสอบหลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบ และได้รับรายงานผลคะแนน (Score Report) แสดงรายละเอียดการสอบและคะแนนที่ได้ทั้งผู้ที่สอบผ่านและสอบตก โดยผู้สอบต้องได้คะแนน 700 คะแนนขึ้นไปจากคะแนนเต็ม 1000 คะแนน เมื่อผู้สอบผ่านครบทุกวิชาตามเกณฑ์ที่กำหนด จะได้ใบประกาศนียบัตรวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Certificate)

 2. การประเมินผลการสอบ

รายงานผลคะแนน (Score Report) จะแสดงคะแนนและระดับทักษะความสามารถของผู้สอบในด้านต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้สอบทราบว่าต้องมีการฝึกฝนในด้านเพิ่มเติม โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการสอบ เพื่อจะได้เตรียมพร้อมสำหรับการสอบครั้งต่อไป

 3. การปรับปรุงพัฒนา

 3.1 สำหรับผู้ที่สอบผ่าน

 เมื่อทราบคะแนนระดับทักษะความสามารถแล้ว ให้ศึกษาและฝึกปฏิบัติเพิ่มเติมในทักษะที่ขาดความชำนาญ เพื่อเติมเต็มความรู้ความเข้าใจให้กับผู้สอบเพื่อจะได้นำไปใช้ในการปฏิบัติงานและเตรียมพร้อมสำหรับการสอบในระดับที่สูงขึ้น      

3.2 สำหรับผู้ที่สอบไม่ผ่าน ให้ผู้สอบวิเคราะห์สาเหตุว่าเกิดจากสิ่งใด เช่น

– เวลาในการเตรียมตัวสอบ ผู้สอบมีเวลาในการเตรียมตัวสอบเพียงพอหรือไม่
– การศึกษาหาข้อมูล เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ทำให้เนื้อหาในการสอบมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เราจึงควรติดตามข่าวสารอยู่เสมอ
– การฝึกปฏิบัติกับระบบงานจริง เนื่องจากเนื้อหาการสอบจะเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้จากการปฏิบัติงานจริง ถ้าผู้สอบไม่มีพื้นฐานเพียงพอ จะไม่สามารถวิเคราะห์โจทย์เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องได้
– การฝึกทักษะภาษาอังกฤษ เนื่องจากข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษ ต้องใช้ทักษะด้านการอ่านและการแปลพอสมควร ผู้สอบจึงต้องศึกษาข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษประกอบด้วย เพื่อสร้างความคุ้นเคยและจดจำคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้เราทำความเข้าใจข้อสอบได้ดีขึ้น และมีเวลาในการวิเคราะห์ข้อสอบมากขึ้น
– การเลือกวันสอบและศูนย์สอบ ควรเลือกสอบในช่วงที่ไม่มีภาระงานเร่งด่วน และศูนย์สอบสามารถเดินทางได้สะดวก เพื่อที่ผู้สอบได้มีสมาธิกับการสอบได้อย่างเต็มที่

ระยะที่ 4 การนำไปใช้ (Action)

1. นำความรู้ไปใช้ในการออกแบบและติดตั้ง Server ของมหาวิทยาลัย ให้เหมาะสมกับงาน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัย
2. นำไปใช้ในการพัฒนาระบบสารสนเทศของมหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพ รองรับความต้องการของนักศึกษาและมหาวิทยาลัย
3. นำไปใช้ในการถ่ายทอดให้ความรู้กับนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถนำความรู้นั้นไปใช้ในการเรียนการปฏิบัติงานต่อไป

ผลกระทบที่เป็นประโยชน์หรือการสร้างคุณค่า

1. ประโยชน์ที่ผู้สอบได้รับ

1.1 นักวิชาการคอมพิวเตอร์มีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเอง
1.2. สร้างความภูมิใจให้กับตนเอง
1.3. ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ

2. ประโยชน์ที่มหาวิทยาลัยได้รับ

บุคลากรที่สอบผ่านสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ เป็นวิทยากรอบรมนักศึกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครในการสอบเพื่อรับรองมาตรฐานวิชาชีพตามหลักสากล

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

1. ผู้บริหารผลักดันให้นักวิชาการคอมพิวเตอร์เข้ารับการทดสอบ
2. การเตรียมความพร้อมก่อนสอบ การศึกษาข้อมูลล่วงหน้า การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการปฏิบัติงานกับระบบจริง เพื่อสร้างทักษะและความมั่นใจให้กับผู้สอบ
3. ผู้ได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Certificate) ของมหาวิทยาลัย จะได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ

ปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไข

1. ปัญหาและอุปสรรค

1.1 นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการขาดทักษะภาษาอังกฤษในการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Certificate)
1.2 ค่าใช้จ่ายสูงในการเข้ารับการทดสอบ

          2. แนวทางแก้ไข

2.1 ส่งให้นักวิชาการคอมพิวเตอร์ได้ศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษ เช่น หนังสือหรือวิดีโอสื่อการสอนต่างประเทศ และจัดอบรมภาษาอังกฤษ
2.2 วางแผนการสอบล่วงหน้า เพื่อให้นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการที่เข้าสอบได้มีเวลาเตรียมศึกษาข้อมูลและงบประมาณไว้ใช้ในการสอบ

ความท้าทายต่อไป

1. ส่งเสริมให้นักวิชาการคอมพิวเตอร์สอบผ่านการรับรองวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Certificate) ทุกคน
2. ส่งเสริมให้ผู้ที่สอบผ่านแล้วสามารถสอบผ่านในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
3. ส่งเสริมให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครในสาขาที่เกี่ยวข้องเข้ารับการสอบและสอบผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานสากลเป็นการเตรียมพร้อมสู่อาเซียน

การอบรมเชิงปฏิบัติการ Windows Server 2012 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้ารับการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพ